วันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ประเพณีสำคัญของไทย

วันขึ้นปีใหม่ (1 มกราคม)


ความหมาย
         โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่งประมาณ 365 วันหรือ 12 เดือน ตามสุริยุติ ซึ่งเป็นการบรรจบครบรอบถือว่าปีหนึ่งหมดไป และการขึ้นวันเดือนใหม่นั้นก้เรียกกันว่าปีใหม่ นอกจากปีพุทธศักราช (พ.ศ.) จะเปลี่ยนไปปีนักษัตร ประจำปีก็จะเปลี่ยนไปด้วย

ความเป็นมา
         แบบนานาชาติ ในสมัยโบราณนั้น วันขึ้นปีใหม่ของแต่ละชาติไม่ตรงกัน ครั้นมาถึงสมัยของกษัตริย์ซีซาร์ จึงเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่มาเป็นวันที่ 1 มกราคม แต่ชาวอังกฤษเชื้อสายแองโกลซักซอน และชาวคริสเตียนได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ มาเป็นวันที่ 1 มกราคม ในสมัยพระเจ้าวิลเลี่ยมส่วนชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ก็มีการขึ้นปีใหม่วันที่ 1 มกราคม ในช่วงที่มีการใช้ ปฏิทินแบบกรีกรอเรียน
         แบบไทย ในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 5 ตอนต้น ถือวันทางจันทรคติ 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันขึ้นปีใหม่ครั้นต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่เป็นทางสุริยคติโดยถือเอาวันที่ 1 เมษายน รัตนโกสินทร์ ศก (ร.ศ.108) เป็นวันขึ้นปีใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ใช้พุทธศักราชแทน รัตนโกสินทร์ศก ตั้งแต่ พ.ศ. 2455 ครั้นต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 8 ได้มีการประกาศให้ใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ โดยให้เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2484 ตามราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เนื่องมาจาก วันที่ 1 มกราคม เป็นวันที่ใกล้เคียงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย และเป็นช่วงฤดูหนาวต้นปี ซึ่งเป็นการสอดคล้องตามจารีตประเพณีของไทยในการนับ ซึ่งก็เป็นวิธีที่ถูกต้องและตรงกับวิธีสากลตามแบบอารยประเทศ
กิจกรรม
         ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ประชาชนรวมทั้งข้าราชการ จะมีการจัดงานรื่นเริงและมหรสพ ตั้งแต่คืนวันที่ 31 ธันวาคม จนถึงวันที่ 1 มกราคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพรปีใหม่แก่ประชาชน สมเด็จพระสังฆราชประทานพรปีใหม่แก่พุทธศาสนิกชน และบุคคลสำคัญ ในช่วงเช้าของวันที่ 1 มกราคม ประชาชนก็จะทำบุญตักบาตร ปล่อยนก ปบ่อยปลา เยี่ยมเยียนญาติผู้ใหญ่รับพร และอวยพรซึ่งกันและกันเพื่อความสุขความเจริญ



วันสงกรานต์

      สงกรานต์ เป็นประเพณีปีใหม่ของประเทศไทย ลาว กัมพูชา พม่า ชนกลุ่มน้อยชาวไตแถบเวียดนามและมณฑลยูนนานของจีน ศรีลังกาและทางตะวันออกของประเทศอินเดีย สงกรานต์เป็นคำสันสกฤต หมายถึงการเคลื่อนย้าย ซึ่งเป็นการอุปมาถึงการเคลื่อนย้ายของการประทับในจักรราศี หรือคือการเคลื่อนขึ้นปีใหม่ในความเชื่อของไทยและบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวต่างประเทศเรียกว่า "สงครามน้ำ"
   สงกรานต์ เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยซึ่งสืบทอดมาแต่โบราณคู่มากับประเพณีตรุษ จึงมีการเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ หมายถึงประเพณีส่งท้ายปีเก่า และต้อนรับปีใหม่ คำว่าตรุษเป็นภาษาทมิฬ แปลว่าการสิ้นปี
พิธีสงกรานต์ เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในสมาชิกในครอบครัว หรือชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปสู่สังคมในวงกว้าง และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทัศนคติ และความเชื่อไป ในความเชื่อดั้งเดิมใช้สัญลักษณ์เป็นองค์ประกอบหลักในพิธี ได้แก่ การใช้น้ำเป็นตัวแทน แก้กันกับความหมายของฤดูร้อน ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น มีการขอพรจากผู้ใหญ่ การรำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ในชีวิตสมัยใหม่ของสังคมไทยเกิดประเพณีกลับบ้านในเทศกาลสงกรานต์ นับวันสงกรานต์เป็นวันครอบครัว ในพิธีเดิมมีการสรงน้ำพระที่นำสิริมงคล เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีความสุข ปัจจุบันมีพัฒนาการและมีแนวโน้มว่าได้มีการเสริมจนคลาดเคลื่อนบิดเบือนไป เกิดการประชาสัมพันธ์ในเชิงการท่องเที่ยวว่าเป็น ‘Water Festival’ เป็นภาพของการใช้น้ำเพื่อแสดงความหมายเพียงประเพณีการเล่นน้ำ
    การที่สังคมเปลี่ยนไป มีการเคลื่อนย้ายที่อยู่เข้าสู่เมืองใหญ่ และถือวันสงกรานต์เป็นวัน "กลับบ้าน" ทำให้การจราจรคับคั่งในช่วงวันก่อนสงกรานต์ วันแรกของเทศกาล และวันสุดท้ายของเทศกาล เกิดอุบัติเหตุทางถนนสูง นับเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงหลายด้านของสังคม นอกจากนี้ เทศกาลสงกรานต์ยังถูกใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้งต่อคนไทย และต่อนักท่องเที่ยวต่างประเทศ
   
        ตำนานนางสงกรานต์


         ตามจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามกล่าวตามพระบาลีฝ่ายรามัญว่า ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเศรษฐีคนหนึ่ง รวยทรัพย์แต่อาภัพบุตร ตั้งบ้านอยู่ใกล้กับนักเลงสุราที่มีบุตรสองคน วันหนึ่งนักเลงสุราต่อว่าเศรษฐีจนกระทั่งเศรษฐีน้อยใจ จึงได้บวงสรวงพระอาทิตย์ พระจันทร์ ตั้งจิตอธิษฐานอยู่กว่าสามปี ก็ไร้วี่แววที่จะมีบุตร อยู่มาวันหนึ่งพอถึงช่วงที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ เศรษฐีได้พาบริวารไปยังต้นไทรริมน้ำ พอถึงก็ได้เอาข้าวสารลงล้างในน้ำเจ็ดครั้ง แล้วหุงบูชาอธิษฐานขอบุตรกับรุกขเทวดาในต้นไทรนั้น รุกขเทวดาเห็นใจเศรษฐี จึงเหาะไปเฝ้าพระอินทร์ ไม่ช้าพระอินทร์ก็มีเมตตาประทานให้เทพบุตรองค์หนึ่งนาม "ธรรมบาล"ลงไปปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาเศรษฐี ไม่ช้าก็คลอดออกมา เศรษฐีตั้งชื่อให้กุมารน้อยนี้ว่า ธรรมบาลกุมาร และได้ปลูกปราสาทไว้ใต้ต้นไทรให้กุมารนี้อยู่อาศัยต่อมาเมื่อธรรมบาลกุมารโตขึ้น ก็ได้เรียนรู้ซึ่งภาษานก และเรียนไตรเภทจบเมื่ออายุได้เจ็ดขวบ เขาได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่าง ๆ แก่คนทั้งหลาย อยู่มาวันหนึ่ง ท้าวกบิลพรหม ได้ลงมาถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร 3ข้อ ถ้าธรรมบาลกุมารตอบได้ก็จะตัดเศียรบูชา แต่ถ้าตอบไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย ท้าวกบิลพรหมถามธรรมบาลกุมารว่า ตอนเช้าศรีอยู่ที่ไหน ตอนเที่ยงศรีอยู่ที่ไหน และตอนค่ำศรีอยู่ที่ไหน ทันใดนั้นธรรมบาลกุมารจึงขอผัดผ่อนกับท้าวกบิลพรหมเป็นเวลา 7 วันทางธรรมบาลกุมารก็พยายามคิดค้นหาคำตอบ ล่วงเข้าวันที่ 6 ธรรมบาลกุมารก็ลงจากปราสาทมานอนอยู่ใต้ต้นตาล เขาคิดว่า ขอตายในที่ลับยังดีกว่าไปตายด้วยอาญาท้าวกบิลพรหม บังเอิญบนต้นไม้มีนกอินทรี 2 ตัวผัวเมียเกาะทำรังอยู่ นางนกอินทรีถามสามีว่า พรุ่งนี้เราจะไปหาอาหารแห่งใด สามีตอบนางนกว่า เราจะไปกินศพธรรมบาลกุมาร ซึ่งท้าวกบิลพรหมจะฆ่าเสีย ด้วยแก้ปัญหาไม่ได้ นางนกจึงถามว่า คำถามที่ท้าวกบิลพรหมถามคืออะไร สามีก็เล่าให้ฟัง ซึ่งนางนกก็ไม่สามารถตอบได้ สามีจึงเฉลยว่า ตอนเช้า ศรีจะอยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้าทุก ๆ เช้า ตอนเที่ยง ศรีจะอยู่ที่อก คนจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก ส่วนตอนเย็น ศรีจะอยู่ที่เท้า คนจึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน ธรรมบาลกุมารก็ได้ทราบเรื่องที่นกอินทรีคุยกันตลอด จึงจดจำไว้ครั้นรุ่งขึ้น ท้าวกบิลพรหมก็มาตามสัญญาที่ให้ไว้ทุกประการ ธรรมบาลกุมารจึงนำคำตอบที่ได้ยินจากนกไปตอบกับท้าวกบิลพรหม ท้าวกบิลพรหมจึงตรัสเรียกธิดาทั้งเจ็ดอันเป็นบาทบาจาริกาพระอินทร์มาประชุมพร้อมกัน แล้วบอกว่า เราจะตัดเศียรบูชาธรรมบาลกุมาร ถ้าจะตั้งไว้ยังแผ่นดิน ไฟก็จะไหม้โลก ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศ ฝนก็จะแล้ง ถ้าจะทิ้งในมหาสมุทร น้ำก็จะแห้ง จึงให้ธิดาทั้งเจ็ดนำพานมารองรับ แล้วก็ตัดเศียรให้นางทุงษะ ผู้เป็นธิดาองค์โต จากนั้นนางทุงษะก็อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมเวียนขวารอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที แล้วเก็บรักษาไว้ในถ้ำคันธุลี ในเขาไกรลาศ  จากนั้นมาทุก ๆ 1 ปี ธิดาของท้าวกบิลพรหมทั้ง 7 ก็จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำหน้าที่อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมแห่ไปรอบเขาพระสุเมรุ เป็นเวลา 60นาที แล้วประดิษฐานตามเดิม ในแต่ละปีนางสงกรานต์แต่ละนางจะทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันตามวันมหาสงกรานต์ ดังนี้
  1. ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม ทุงษะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกทับทิม อาภรณ์แก้วปัทมราช ภักษาหารอุทุมพร (ผลมะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จมาบนหลังครุฑ
  2. ถ้าวันจันทร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม โคราคะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกปีบ อาภรณ์แก้วมุกดา ภักษาหารเตลัง (น้ำมัน) พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังพยัคฆ์ (เสือ)
  3. ถ้าวันอังคารเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม รากษสเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกบัวหลวง อาภรณ์แก้วโมรา ภักษาหารโลหิต พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายทรงธนู เสด็จมาบนหลังวราหะ (หมู)
  4. ถ้าวันพุธเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม มณฑาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจำปา อาภรณ์แก้วไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย พระหัตถ์ขวาทรงเข็ม พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังคัทรภะ (ลา)
  5. ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม กิริณีเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต ภักษาหารถั่วงา พระหัตถ์ขวาทรงขอช้าง พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จมาบนหลังคชสาร (ช้าง)
  6. ถ้าวันศุกร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม กิมิทาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จมาบนหลังมหิงสา (ควาย)
  7. ถ้าวันเสาร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม มโหธรเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกสามหาว อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จมาบนหลังมยุรา (นกยูง)

ประเพณีทำบุญเข้าพรรษา หล่อเทียน และแห่เทียนพรรษา



         การเข้าพรรษามีกำหนดตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 8 จนถึงกลางเดือน 11 เป้นระยะเวลา 3 เดือนซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน โดยที่ภิกษุสงฆ์จะอยู่ประจำวัด ห้ามออกเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ
         การทำบุญเข้าพรรษา จะมีการถวายเครื่องอัฐบริขาร ได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ บาตร รัดประคด เข็ม ด้าย หม้อกรองน้ำ มีดโกน ชาวบ้านจะมีการนำผ้าอาบน้ำฝน หรือผ้าจำนำพรรษามาถวายแด่พระภิกษุด้วย ในช่วงเข้าชาวบ้านจะนำภัตตาหารไปถวายพระสงฆ์ รับศีล รับพร ฟังเทศน์ รักษาศีลและมีการงดดื่มของมึนเมาเป็นเวลา 3 เดือน ในช่วงก่อนเข้าพรรษามีประเพณีนิยมบวชลูกหลาน เพื่อที่จะได้จำพรรษาเป็นเวลา 3 เดือน
         ประเพณีหล่อเทียนเข้าพรรษามีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เพราะสมัยก่อนยังไม่มีไฟฟ้าใช้ พระภิกษุสามเณรจะต้องอาศัยแสงสว่างจากตะเกียง หรือ เทียนไข ในการสวดมนต์หรือท่องตำรา ศึกษาพระธรรม ดังนั้นชาวบ้านจึงทำการเรี่ยไรขี้ผึ้งจากผู้มีจิตศรัทธาเมื่อได้ปริมาณขี้ผึ้งมากพอแล้ว ชาวบ้านก็ร่วมใจกันนำขี้ผึ้งมาหล่อเทียน โดยการหล่อที่วัดแล้วทำการตกแต่งแกะสลักลวดลายอย่างสวยงาม พุทธศาสนิกชนมีความเชื่อว่าการหล่อเทียนพรรษาและถวายเทียนพรรษาแก่พระภิกษุนั้นมีอานิสงส์อย่างมาก คือ จะทำให้เป็นผู้มีปัญญาดี เหมือนกับแสงสว่างของแสงเทียน ซึ่งพระภิกษุใช้ในการศึกษาพระธรรม  

        
              การฉลองต้นเทียนพรรษา ที่หล่อเสร็จเรียบร้อยแล้วจะทำก่อนถึงวันเข้าพรรษา 1 วัน มีการนิมนต์พระมาเจริญพระพุทธมนต์ พอตอนรุ่งเช้าก็จะเป็นวันเข้าพรรษาก็จะมีการแห่เทียนไปถวายจนกลายเป็นประเพณี แห่เทียนจำนำพรรษา และในประเพณีแห่เทียนจำนำพรรษานี้ ต่อมาได้มีการจัด ประกวดเทียนที่นำมาแห่ด้วยเนื่องจากเทียนพรรษาจะมีการแกะสลักด้วยลวดลายที่งดงามและอาศัยฝีมือในการแกะสลัก ดังนั้นจึงมีการจัดประกวดเพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการพัฒนาขึ้นด้วย
         ในปัจจุบันประเพณีการแห่เทียนพรรษาได้รับการสนับสนุนมากขึ้นดังนั้นจึงเป็นประเพณีที่ได้ความสนใจจากชาวไทยมากขึ้นและยังเป็นประเพณีที่ได้รับการยอมรับและดึงดูดชาวต่างชาติด้วย เนื่องด้วยความสวยงามของขบวนและความวิจิตรงดงามของลวดลายเทียนที่แสดงถึงเอกลักษณ์ไทยได้เป็นอย่างดี
         งานประเพณีแห่เทียนพรรษา ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้เป็นประเพณีระดับชาตินั้นก็คือประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้เดินทางมาท่องเที่ยวในงานประเพณีนี้กันมากมาย

ประเพณีออกพรรษา ตักบาตรเทโว


         วันออกพรรษาตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เป็นวันที่ภิกษุอยู่ประจำวัดหรืออยู่ประจำที่แห่งใดแห่งหนึ่งเป็นเวลาครบ 3 เดือน วันออกพรรษาเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันปวารณา ซึ่งหมายถึง การที่พระภิกษุต่างสามารถตักเตือนซึ่งกันและกันได้โดยไม่มีการโกรธเคือง มีการว่ากล่าวตักเตือนในเรื่องข้อบกพร่องต่างๆ ที่ได้อยู่ร่วมกันมา 3 เดือน และผู้ที่ถูกว่ากล่าวตักเตือน จะต้องยอมรับและมีใจกว้างพิจารณาตนเอง แต่ผู้ที่ว่ากล่าวตักเตือนผู้อื่นก็จะต้องเป็นผู้มีความปรารถนาดีต่อผู้ที่ตนว่ากล่าวตักเตือน หลักการปวารณานี้พุทธศาสนิกชนสามารถนำมาปรับประยุกต์ใช้ได้กับการดำเนินชีวิต หรือการทำงานได้ เพื่อเสริมสร้างการพัฒนาตนเองหรือการพัฒนาในหน่วยงาน องค์กรได้เป็นอย่างดี
         ในวันออกพรรษาเป็นวันปวารณาของสงฆ์โดยตรง ส่วนพุทธศาสนิกชนก็ให้ความสำคัญโดยถือเป็นวันพระ และมักที่จะไปทำบุญ ตักบาตร รักษาศีล ฟังเทศน์ และในการทำบุญตักบาตร จะเรียกว่า ตักบาตรเทโว

         ตักบาตรเทโว  มาจากคำว่า ตักบาตรเทโวโรหณะ
         เทโวโรหณะ     แปลว่า  หยั่งลงมาจากเทวโลก
         ประเพณีการตักบาตรเทโวโรหณะ ตรงกับวันแรม 1ค่ำ เดือน 11เป็นการตักบาตรเนื่องในโอกาสที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ลงสู่มนุษย์โลก หลังจากที่ได้แสดงธรรมเทศนาโปรดพระมารดาเป็นการต้อนรับเสด็จพระพุทธองค์
        


 ประวัติความเป็นมาของประเพณีการตักบาตรเทโวโรหณะมีดังนี้

         พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนาแก่ประชาชนอยู่เป็นประจำ ณ นครสาวัตถี จนมีประชาชนจำนวนมากหันมาเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาจึงเป็นเหตุทำให้เหล่าเดียรถีย์เสื่อมลง (เดียรถีย์ หมายถึง นักบวชประเภทหนึ่งมีมาก่อนพระพุทธศาสนาและเป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง มีพุทธบัญญัติว่า หากเดียรถีย์จะมาขอบวชในพระพุทธศาสนาต้องมารับการฝึก เพื่อตรวจสอบว่ามีความเลื่อมใสแน่นอนเสียก่อน เรียกว่า ติตถิยปริวาส) พวกเดียรถีย์เดือดร้อนเนื่องจาก เครื่องถวายสักการะก็ลดน้อยลงตามไปด้วย จึงคิดหาวิธีที่จะทำลายพระพุทธศาสนาโดยการกล่าวร้ายพระพุทธเจ้า สาวก แต่ประชาชนก็ยังเลื่อมใสศรัทธาเหมือนเคยในที่สุดเดียรถีย์จึงใช้อุบายทำลายพระพุทธศาสนาโดยการใช้พุทธบัญญัติที่ว่ามั่นใจว่าพระพุทธเจ้าไม่กล้า ฝ่าฝืนข้อห้ามที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้เอง จึงช่วยกันกระจายข่าวให้ประชาชน ได้ทราบว่า พระพุทธเจ้าและเหล่าสาวกสิ้นท่าหมดอิทธิฤทธิ์ แล้วงดการแสดง ตรงข้ามกับเหล่าคณาจารย์เดียรถีย์ ซึ่งมีปาฏิหาริย์อบรมมั่นคงเต็มที่และมีความพร้อมที่จะแสดงให้เห็นได้ทุกเมื่อถ้าไม่เชื่อก็เชิญพระพุทธเจ้ามาแสดงปาฏิหาริย์แข่งกันก็ย่อมได้เพื่อพิสูจน์ว่าใครจะเก่งกว่าใคร 
         ฝ่ายพระพุทธเจ้าและสาวกก็เงียบเฉย เดียรถีย์จึงกล่าวร้ายหนักอีกว่า พระพุทธเจ้าไม่มีความสามารถในการแสดงอิทธิฤทธิ์ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบจึงคิดใคร่ครวญและตัดสินใจที่จะแสดงปาฏิหาริย์ให้พวกเดียรถีย์ได้ประจักษ์เพื่อไม่ให้พระพุทธศาสนาโดนย่ำยี โดยพระองค์ได้ประกาศว่าจะแสดงยมกปาฏิหาริย์ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ณ ใต้ต้นมะม่วง เมื่อฝ่ายเดียรถีย์รู้ ความดังนั้นจึงแบ่งพวกให้ไปทำลายต้นมะม่วงทุกต้นในเมืองสาวัตถี อีกพวกก็ช่วยกันสร้างมณฑปเพื่อแสดงปาฏิหาริย์ของตน และประกาศให้ประชาชนมาชมความล้มเหลวของพระพุทธองค์ เมื่อถึงกำหนดก็เกิดพายุใหญ่ทำให้มณฑปของเดียรถีย์พังหมดสิ้นส่วนพระพุทธเจ้ายังมิได้แสดงปาฏิหาริย์แต่อย่างใด
         ในวันนั้นเอง คนเฝ้าพระราชอุทยานของพระเจ้าปเสนทิโกศล ชื่อว่า นายคัณฑะ ได้ถวายมะม่วงผลหนึ่งแก่พระพุทธเจ้าเนื่องจากมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธองค์ พระพุทธองค์จึงสั่งให้พระอานนท์นำมะม่วงไปทำน้ำปานะ (ปานะ หมายถึง น้ำ ของสำหรับดื่ม) มาถวายและเอาเมล็ดมะม่วงวางบนดิน เมื่อทรงฉันน้ำปานะเสร็จ ก็ทรงล้างพระหัตถ์โดยให้น้ำรดลงบนเมล็ดมะม่วง ทันใดนั้นเอง ก็กลายเป็นต้นมะม่วงที่งอกเงยขึ้นมาและต้นใหญ่ หลังจากนั้นพระพุทธเจ้าก็แสดงปาฏิหาริย์เนรมิตช่อไฟ ช่อน้ำเนรมิต บุคคลที่เหมือนพระองค์ทุกประการ ทรงแสดงธรรม จงกรม พระพุทธนิมิตให้ประชาชนได้ประจักษ์แก่สายตาจึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธาโดยทั่วกัน ส่วนเดียรถีย์จึงโดนประชาชนสาปแช่งจนย่อยยับกลับไป
         วันรุ่งขึ้นเป็นวันเข้าพรรษา พระองค์ประกาศว่าจะไปจะพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เนื่องจากพระพุทธองค์ทรงต้องการเทศนาโปรดพระนางสิริมหามายา พระพุทธมารดา เพื่อเป็นการสนองพระคุณ ดังนั้นพระองค์จึงได้เทศนาพระอภิธรรมปิฎกโปรดพระพุทธมารดาในช่วงเข้าพรรษา 3 เดือน เมื่อถึงวันออกพรรษาพระพุทธองค์จึงเสด็จกลับสู่โลกมนุษย์ทางประตูเมืองสังกัสสนคร เป็นการหยั่งจากเทวโลก (เทโวโรหณะ) เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จลงมาในวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ประชาชนต่างพร้อมใจกันมารับเสด็จและนำอาหารมาเพื่อทำบุญตักบาตรเป็นจำนวนมาก ประชาชนบางพวกอยู่ห่างไม่สามารถที่จะถวายอาหารใส่ลงบาตรได้ จึงนำข้าวสาลีมาปั้นเป็นก้อนแล้วโยนใส่ลงในบาตร จนกลายมาเป็นประเพณีนิยมที่ว่าจะต้องทำข้าวต้มลูกโยนเพื่อไว้ใส่บาตรในวันเทโวโรหณะ ข้าวต้มลูกโยนทำมาจากข้าวเหนียวห่อด้วยใบมะพร้าวไว้หางยาวๆ
         วิธีตักบาตรเทโว จะอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนล้อเลื่อนที่บุษบก (บุษบก หมายถึง เรือขนาดเล็ก มียอด เคลื่อนที่ได้) และมีบาตรวางตั้งอยู่ด้านหน้า และจะมีคนลากล้อเลื่อนไปอย่างช้าๆ พระสงฆ์ก็จะเดินตามเรียงเป็นแถวส่วนพุทธศาสนิกชนก็จะนั่งเรียงเป็นแถว และนำข้าวต้มลูกโยนมาใส่บาตร ซึ่งในบางวัดอาจจะมีการจัดสถานที่เป็นแบบจำลองเหมือนกับที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจริงๆ



ประเพณีทอดกฐิน


         กฐิน หมายถึง ชื่อพิธีทำบุญทางพระพุทธศาสนาหลังจากออกพรรษาภายในกำหนด 1 เดือน มีข้อควรทราบดังนี้
         1.เขตกฐิน ระยะเวลาให้พระรับกฐินได้คือตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน11 ถึงขึ้น 15 ค่ำเดือน 12
         2.ผ้ากฐินเป็นผ้าสบง ผ้าจีวร ผ้าสังฆาฏิ ผืนใดผืนหนึ่งใน 3 ผืนนี้
          


         
         กฐิน หมายถึง ไม้สะดึงผ้าที่ยกนำมาถวายแด่พระสงฆ์ผู้อยู่จำพรรษาแล้วที่เรียกเช่นนี้เพราะเวลาจะตัดใช้สะดึงทาบ การที่นำผ้าไปถวายเรียกว่า ทอดกฐิน

         การทอดกฐิน คือ การถวายผ้ากฐินแก่พระสงฆ์ผู้จำพรรษาอยู่วัดใดวัดหนึ่งหรือสถานที่ใดที่หนึ่งครบ 3 เดือน เพื่อให้พระได้มีผ้าเปลี่ยนใหม่การทอดกฐินจึงถือเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ ให้อานิสงส์แรง เพราะในปีหนึ่งแต่ละวัดจะรับกฐินได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น และจะต้องทำภายในเวลาที่กำหนดในการทอดกฐิน คือ 1 เดือนเท่านั้น โดยนับตั้งแต่วันออกพรรษา
         
         ก่อนการทอดกฐินจะต้องมีการจองกฐินก่อนโดยจะต้องไปแจ้งความประสงค์แก่เจ้าอาวาสแล้วเขียนปิดประกาศให้ทราบ และเมื่อจองเรียบร้อยและได้หมายกำหนดการเรียบร้อยแล้ว เจ้าภาพจะต้องจัดเตรียมเครื่องกฐินซึ่งได้แก่ ผ้าจีวรหรือผ้าสบงหรือสังฆาฏิ ผืนใดผืนหนึ่ง และเครื่องบริขาร บริวารกฐิน ซึ่งอาจจะถวายเป็นปัจจัยสี่หรือถวายเป็นส่วนกลางเพื่อเป็นประโยชน์กับสงฆ์

        
           วันก่อนการทำพิธีทอดกฐิน 1วันเรียกว่า วันสุกดิบ ทุกคนจะมาช่วยกันเตรียมสถานที่ ปักธงเตรียมเครื่องใช้สำหรับถวายพระและของที่จะต้องใช้ในพิธีในวันงานทอดกฐินนิยมจัดงาน 2 วันคือ วันแรกจะเป็นวันตั้งองค์พระกฐินซึ่งอาจจะเป็นที่บ้านเจ้าภาพหรือที่วัดก็ได้ ตอนกลางคืนก้จะมีมหรสพ ในวันรุ่งขึ้นเป็นวันที่สองก็จะเป็นวันทอด ซึ่งจะมีการแห่ไปตอนเช้าและเลี้ยงพระเพล หรืออาจจะทอดในตอนเพลก็ได้แล้วแต่ความสะดวกของเจ้าภาพ หากเป็นกฐินสามัคคี คือ มีหลายเจ้าภาพซึ่งแยกกันตั้งองค์กฐินตามบ้านของตนเอง ให้แห่มาทอดรวมกันในวันรุ่งขึ้นเพราะแต่ละวัดจะรับกฐินได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น
         พิธีทอดกฐิน จะมีพิธีสำคัญ 2 ขั้นตอน คือ
         1.การถวายผ้ากฐิน เมื่อถึงเวลาที่พระสงฆ์มาพร้อมกันแล้ว เจ้าภาพก็จะอุ้มผ้ากฐินนั่งตรงต่อหน้าพระประธาน ตั้งนะโม 3 จบ หันมาทางพระสงฆ์แล้วกล่าวคำถวายผ้ากฐิน 3 จบ เช่นกัน เมื่อพระสงฆ์กล่าวรับ เจ้าภาพก็จะประเคนผ้าไตรกฐิน และเครื่องปัจจัยต่างๆ หลังจากนั้นพระสงฆ์จะลงความเห็นว่าพระรูปใดมีจีวรเก่าก็จะพร้อมในกันถวายให้พระรูปนั้นแล้วพระสงฆ์ก็จะสวด อนุโมทนา และเจ้าภาพก็จะกรวดน้ำเป็นอันเสร็จพิธี
         คำถวายผ้ากฐิน (กล่าวนะโม 3 จบแล้วตามด้วย)
         อิมัง ภันเต สะปะริวารัง กะฐินะจีวะ ระทุสสัง สังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต สังโฆ อิมัง สะปะริวารัง กะฐินะจีวะระทุสสัง ปะฏิคัณหาตุ ปะฏิคคะเหตะวา จะ อิมินา ทุสเสนะ กะฐินัง อัตถะระตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ
         สวดซ้ำเป็นครั้งที่ 2 โดยเพิ่มคำว่า ทุติยัมปิ นำหน้าแล้วสวดซ้ำเหมือนเดิม สวดซ้ำเป็นครั้งที่สามโดยเพิ่มคำว่า ตะติยัมปิ นำหน้าแล้วสวดซ้ำเหมือนเดิม คำแปล ข้าแต่พระสงฆ์ ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวาย ผ้ากฐินพร้อมทั้งบริวารนี้แก่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับ ผ้ากฐินกับทั้งบริวารนี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย รับแล้วจงกรานกฐินด้วยผ้านี้เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญ
         2.พิธีกรานกฐิน เป็นพิธีทางฝ่ายสงฆ์ โดยเฉพาะภิกษุที่ได้รับมอบผ้ากฐิน จะมีการกล่าววาจากรานกฐินตามลักษณะของผ้าที่กราน
         อานิสงส์ของกฐินที่ได้กับพระสงฆ์
         -พระสงฆ์สามารถออกไปนอกวัดได้โดยไม่ต้องบอกลาภิกษุด้วยกัน
         -พระสงฆ์ขาดจากผ้าสังฆาฏิ หรือผืนใดผืนหนึ่งในไตรจีวรได้ เอาจีวรไปไม่ครบสำรับได้
         -พระสงฆ์สามารถฉันอาหารเป็นคณะโภชน์ได้
         -พระสงฆ์สามารถเก็บจีวรได้ตามปรารถนา
         -พระสงฆ์ได้ลาภต่างๆ ที่เกิดขึ้น
         อานิสงส์ของกฐินสำหรับผู้ทอด
         ผู้ทอดกฐินมีความเชื่อว่าการทอดกฐินเป็นพิธีบุญที่อานิสงส์แรง ปีหนึ่งทำได้ครั้งเดียว และสามารถบริจาคได้ทั้งสมบัติและยังเป็นการบอกบุญแก่ญาติมิตรให้มาร่วมทำบุญ ทำกุศลในครั้งนี้ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น