วันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

การละเล่นของไทย

การละเล่นเด็กไทย 

        เป็นการละเล่นของเด็กตั้งแต่สมัยโบราณ แต่ในปัจจุบันมักไม่ค่อยได้พบเห็นการละเล่นประเภทเหล่านี้กันบ่อยนัก เพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนไป





   ขี่ม้าก้านกล้วย 
          เป็นการละเล่นเด็กไทย โดยอาศัยก้านกล้วยที่ปลูกไว้ตามบริเวณข้างบ้านและในสวน ซึ่งผู้ใหญ่มักทำให้เด็กๆ เล่นเพื่อความสนุกเพลิดเพลิน และเป็นการฝึกการความแข็งแรงไปในตัว
 ประโยชน์
  1. การทำท่าเหมือนม้า ทำให้เด็กมีจินตนาการ และ กล้าแสดงออก
  2. เป็นการออกกำลังกายอย่างดี
  3. รักษาประเพณีพื้นบ้านของไทย
 วิธีทำ
       วัตถุดิบนั้น ทั้งหาง่ายมากและไม่ต้องเสียเงินเลย เพราะสิ่งที่ต้องใช้ก็คือ ต้นกล้วยนั่นเอง ตัดต้นกล้วยมาในลักษณะรูปร่างที่ผอมยาวเล็กน้อย จากนั้นก็ทำรูปร่างให้เหมือนกับคอม้า
วิธีการเล่น
        วิธีการเล่นคือ ขึ้นขี่บนก้านกล้วย แล้วออกวิ่ง จากนั้นส่งเสียงร้อง ฮี้ฮี้ แต่ถ้ามีผู้เล่น2คนขึ้นไป ก็สามารถจัดเป็นการแข่งขันขึ้นได้ โดยฝ่ายไหนวิ่งเร็วที่สุด ก็จะเป็นผู้ชนะ


กาฟักไข่



        บางแห่งเรียกกว่า "ซิงไข่เต่า" ผู้เล่นเป็นอีกาหรือเต่าจะเข้าไปอยู่ในวงกลมที่ขีดไว้ คนอื่นๆอยู่นอกวงกลม พยายามแย่งเอาก้อนหินที่สมมุติว่าเป็นไข่มาให้ได้ อีกาหรือเต่าจะปัดป่ายแขนขาไปมา ถ้าโดนผู้ใดผู้นั้นจะต้องมาเล่นเป็นอีกาแทนทันที แต่ถ้าไข่ถูกแย่งหมด อีกาหรือเต่าจะต้องไปตามหาไข่ที่ผู้อื่นซ่อนไว้ หากหาไม่พบจะถูกจูงหูไปหาไข่ที่ซ่อนไว้ เป็นการลงโทษ

มอญซ่อนผ้า

          การเล่นมอญซ่อนผ้า เป็นการเล่นที่ง่าย ไม่มีกฎกติกามากมายนักมักเป็นการละเล่นของหนุ่มสาว โดยมากจะซ่อนเป็นคู่ ๆ เป็นการเจาะจงตัวผู้ซ่อน นิยมเล่นในงานเทศกาลต่าง ๆ โดยเฉพาะเทศกาลตรุษสงกรานต์ (การเล่นในสมัยอยุธยา)

วัตถุประสงค์
  1. เพื่อการคบค้าสมาคมกับบุคคลอื่น โดยเฉพาะเพื่อนต่างเพศ
  2. เพื่อเป็นการออกกำลังกายกลางแจ้ง
  3. เพื่อฝึกไหวพริบ
อุปกรณ์ 
ผ้าขาวม้ามัดปลายให้เป็นปมใหญ่ ๆ เรียกว่า ผ้าตีหรือลูกตูม จำนวนของลูกตูม จะมี 1 ใน 3 ของจำนวนผู้เล่นหรือแล้วแต่จะตกลงกัน

ผู้เล่น ไม่จำกัดจำนวนผู้เล่น แต่นิยมให้มีผู้เล่นมากกว่า 8 คน เป็นชายและหญิงฝ่ายละครึ่ง

รูปแบบ ผู้เล่นนั่งล้อมเป็นวงกลมหันหลังให้กัน ดังภาพประกอบ
วิธีการเล่น
  1. ให้ผู้เล่นนั่งเป็นวงกลม ทั้งสองฝ่ายนั่งคละสลับกัน
  2. โดยปกติถ้าแบ่งเป็นชายฝ่ายหนึ่งหญิงฝ่ายหนึ่ง จะให้ฝ่ายชายเป็นผู้ถือผ้าก่อน โดยให้ตัวแทนฝ่ายชาย 1 หรือ 2 คน แล้วแต่ว่าจะมีผ้าอยู่ในกลุ่มของตนกี่ผืนยืนอยู่นอกวง หรือจะให้ฝ่ายหญิงออกมาถือผ้าคละรวมกับฝ่ายชายด้วยก็ได้ แต่จะต้องมีจำนวนผู้เล่นที่ออกมาฝ่ายละเท่ากัน
  3. ผู้เล่นที่นั่งอยู่ในวงต้องนั่งอยู่เฉย ๆ จะหันหน้าไปมองผู้ที่ถือผ้าอยู่นอกวงไม่ได้ หรือจะบอกผู้หนึ่งผู้ใดที่ถูกซ่อนผ้าไม่ได้
  4. ให้ผู้เล่นที่ถือผ้าอยู่นอกวงนั้นเดินรอบวง แล้วให้หาที่ซ่อนลูกตูมโดยซ่อนไว้ที่ข้างลำตัวของผู้เล่นที่นั่งอยู่เป็นผู้เล่นคนละฝ่ายกันหรือผู้ล่นเพศตรงข้าม แล้วเดินวนไปเรื่อย ๆ จนมาถึงตัวผู้ที่ถูกซ่อนลูกตูมเอาไว้ ให้ตีผู้ที่ถูกซ่อน 1 ทีด้วยลูกตูมแล้ววิ่งหนี หรือถ้าผู้เล่นที่ถูกซ่อนรู้สึกตัวให้วิ่งไล่ผู้เล่นที่นำลูกตูมมาวาง แล้วพยายามให้ลูกตูมตีผู้เล่นผู้นั้นให้ได้ ผู้เล่นที่นำ ลูกตูมไปซ่อนไว้ก็จะต้องวิ่งหนีรอบวงและพยายามวิ่งไปนั่งแทนที่ของผู้ที่ตนนำลูกตูมไปซ่อนเอาไว้ให้ได้ ถ้าถูกตีเสียก่อนจักต้องมาทำหน้าที่เช่นเดิม แต่ถ้าวิ่งหนีไปนั่งทัน ผู้ที่ถูกซ่อนลูกตูม จักต้องทำหน้าที่แทนในการเล่นรอบต่อไป
ข้อเสนอแนะ 
1. กติกาการเล่น
  1. ผู้ที่ถือลูกตูมจะต้องเดินหรือวิ่งไปรอบวงในทางเดียวกัน
  2. ผู้เล่นที่นั่งจะต้องนั่งอยู่เฉย ๆ ไม่สามารถลุกเดินมือเปล่าไปมาได้ หรือห้ามมองผู้เล่นที่เดินถือลูกตูม
  3. เมื่อผู้เล่นเดินจบครบรอบแล้วจะต้องซ่อนลูกตูมไว้ข้างหลังผู้เล่นที่นั่งอยู่แต่ต้องไม่ให้ลูกตูมอยู่ห่างจากตัวมากนัก
  4. จะต้องซ่อนฝ่ายตรงข้ามเท่านั้นจะซ่อนฝ่ายเดียวกันไม่ได้ เช่น ถ้าแบ่ง เป็นฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย ฝ่ายชายจะต้องซ่อนฝ่ายหญิง และฝ่ายหญิงจะต้องซ่อนฝ่ายชาย
  5. เมื่อซ่อนแล้วจะต้องวิ่งหนีไปรอบ ๆ วงกลม จะวิ่งย้อนทางหรือตัดวงไม่ได้
2. ระเบียบการตัดสิน 
อำนาจการตัดสินจะตกอยู่กับผู้ที่ถือลูกตูมเป็นหลัก ถ้าลูกตูมตกอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทั้งหมด อำนาจการตัดสินชี้ขาดจะขึ้นอยู่กับฝ่ายนั้น
  1. เมื่อผู้ถือลูกตูมเดินไปหลายรอบแล้วยังไม่ซ่อนลูกตูม ผู้ที่ถูกลูกตูมอีก ฝ่ายหนึ่งจะใช้อำนาจรุมแย่งเอาลูกตูมมาเป็นของฝ่ายตน ผู้เล่นที่เสียลูกตูมต้องกลับเข้าไปนั่งในวง
  2. ถ้าผู้ใดไม่มีลูกตูมแล้วยืนขึ้นหรือเดิน ให้ผู้ที่มีผ้าของฝ่ายตรงข้ามมารุมตี
  3. ถ้าวิ่งย้อนทาง จะถูกตีกินเปล่าจากผู้เดินถูกทาง คือผ่านใคร ๆ ตี
  4. ถ้าวิ่งผ่าวงด้วยเหตุใดก็ตาม จะถูกพวกนั่งล้อมวงจับ และใช้ลูกตูมตีจนกว่า จะกลับไปนั่งถูกที่ของตน
  5. ถ้ากรณีที่ผู้ซ่อนและผู้ถูกซ่อนหยิบลูกตูมพร้อมกัน ให้ผู้เล่นแต่ละฝ่ายเข้าร่วมแย่งลูกตูมช่วยกัน ถ้าผู้แย่งฝ่ายใดไม่สามารถทนการถูกตีด้วยลูกตูมได้ ฝ่ายตรงข้ามจะได้ ลูกตูมไปครอบครอง

หม้อข้าวหม้อแกง

(การเล่นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น)
เป็นการเล่นเบ็ดเตล็ดเลียนแบบการดำเนินชีวิตของผู้ใหญ่ การเล่นในสมัยก่อนจะถูกมองในแง่จิตวิทยาว่าเป็นการทำนายอนาคตหรือบุพนิมิต ดังเช่นในวรรณคดีเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ตอนหนึ่งได้กล่าวถึง การเล่นสมัยเด็กของนางพิมไว้ว่า
 “แล้วนางหุงข้าวต้มแกง กวาดทรายจัดแจงเป็นรั้วบ้าน นางเล่นทำบุญให้ทาน ไปนิมนต์สมภารมาเร็วไว” 
(หอสมุดแห่งชาติ. 2513 : 11) 
ปัจจุบันการเล่นนี้เรียกกันว่า การเล่นขายของ นิยมเล่นในหมู่เด็กผู้หญิง 
วัตถุประสงค์
  1. เพื่อฝึกหัดการดำเนินชีวิตร่วมกับผู้อื่นและการดำรงชีพ
  2. เพื่อฝึกการรู้จักคิดสร้างสรรค์
อุปกรณ์
  1. อุปกรณ์ที่เหลือใช้สำหรับแทนภาชนะ
  2. เปลือกส้มโอ เปลือกมังคุด หรือใบก้นบิด
  3. ปูนแดง
ผู้เล่น 
มีการสมมติผู้เล่นให้เป็นฝ่ายขายและฝ่ายซื้อ บทบาทของผู้เล่นจะเป็นได้ทั้ง 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายช่วยทำและเปลี่ยนบทบาทมาเป็นฝ่ายซื้อ

รูปแบบ 
ไม่มีรูปแบบที่แน่นอน ดังภาพประกอบ


วิธีการเล่น 
นำเปลือกส้มโอ เปลือกมังคุด หรือใบก้นบิดผสมด้วยปูนแดงเล็กน้อย คั้นเอาน้ำข้น ๆ ใส่ไว้ในภาชนะ ในไม่ช้าน้ำข้น ๆ นั้นจะแข็งตัว เรียกว่า ขนมวุ้น ผู้เล่นนำมาตัดขายให้แก่ ผู้เล่นคนอื่น ๆ

ขี่ม้าส่งเมือง

(การเล่นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น)
เป็นการเล่นของเด็กไทยที่นิยมเล่นกันในหมู่เด็กชาย เพราะมีการขี่คอผู้เล่นที่เป็น ฝ่ายแพ้ซึ่งถูกสมมติให้เป็นม้า จึงไม่นิยมเล่นในหมู่เด็กหญิง บางทีก็เรียกการเล่นนี้ว่า เทวดา นั่งเมือง การเล่นในแต่ละท้องถิ่นจะคล้ายคลึงกัน อาจมีการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดเล็กน้อย

วัตถุประสงค์
  1. เพื่อฝึกความว่องไวและการใช้ไหวพริบ
  2. เพื่อฝึกความซื่อสัตย์ ความยุติธรรม และการรู้จักแพ้ รู้จักชนะ
อุปกรณ์ 
ผ้าโพกศีรษะเท่าจำนวนผู้เล่น แบ่งออกเป็น 2 สี สำหรับผู้เล่น 2 ฝ่าย ฝ่ายละสี

ผู้เล่น 
ไม่จำกัดจำนวน แต่ถ้ามีจำนวนมากประมาณ 20 คน ยิ่งเป็นการดี เพราะจะทำให้การเล่นสนุกสนานยิ่งขึ้น

รูปแบบ 
แบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ฝ่ายเท่า ๆ กัน ตั้งแถวให้ห่างกันประมาณ 10 เมตร ฝ่ายหนึ่งให้เรียก หมู่หนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งเรียก หมู่สอง มีผู้เล่น 1 คน หรือ 2 คน มาเป็นเจ้าเมือง นั่งอยู่ตรงกลางระหว่างผู้เล่นทั้งสองฝ่าย ดังภาพประกอบ


วิธีการเล่น 
ให้ผู้เล่นแต่ละฝ่ายโยนหัวโยนก้อยหรือจับไม้สั้นไม้ยาว เพื่อหาฝ่ายชนะ ในการเริ่มเล่นคือ เป็นผู้กระซิบก่อน แต่ต้องตกลงกันว่าจะกระซิบเรื่องอะไร เช่น ชื่อประเทศ ชื่อจังหวัดในประเทศไทย ชื่อดอกไม้ ชื่อขนม หรือชื่อของผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม เป็นต้น สมมติว่ากระซิบบอกชื่อผู้เล่นของฝ่ายตรงข้าม เมื่อผู้เล่นคนแรกของฝ่ายกระซิบก่อนออกมากระซิบบอกชื่อผู้เล่นของฝ่ายตรงข้ามให้เจ้าเมืองทราบ ต่อไปให้ฝ่ายตรงข้ามออกมากระซิบชื่อผู้เล่นของฝ่ายที่ได้กระซิบทีแรก แต่ถ้าผู้เล่นที่ออกมาเป็นผู้ที่ถูกอีกฝ่ายหนึ่งบอกชื่อไว้กับเจ้าเมือง เจ้าเมืองจะกล่าวคำว่า “โป้ง” ฝ่ายแพ้จะถูกปรับให้เป็นม้าโดยให้ผ่ายที่ชนะขึ้นขี่หลังแล้วพากลับไปส่งยังที่เดิม หรือบางครั้งผู้เล่นอาจตกลงกันว่า ให้ผู้เล่นที่ถูกโป้งเป็นเชลยและฝ่ายที่ทายถูกได้ทายอีกครั้งจนกว่าผู้เล่นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะหมด ฝ่ายที่มีผู้เล่นเหลืออยู่จะเป็นฝ่ายชนะได้ขี่หลังผู้เล่นฝ่ายแพ้ ไปส่งยังเมือง (ผอบ โปษะกฤษณะ. 2522 : 4)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น